ประวัติคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ได้กำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาไว้ว่า รัฐต้องจัดการศึกษาอบรม และสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งในการจัดการศึกษาของรัฐ ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่น และเอกชนตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้ความคุ้มครองการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพ และเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบ เพื่อให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในมาตรา 52 ได้ระบุไว้ว่า ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิตการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยการกำกับและประสานให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่อง
มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา ได้ดำเนินการตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังที่กล่าวข้างต้น และได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2541 โดยได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อ 1 มิถุนายน2543 มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้ทำการเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการบริหารการศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการสอน หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตอีก 2 สาขาวิชาคือ สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และสาขาหลักสูตรและการสอน ในปีการศึกษา 2549 มหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับคุรุสภา เพื่อพัฒนาบุคลากรสายบริหาร โดยเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการบริหารการศึกษา ขณะเดียวกันก็ดำเนินการเปิดอบรมผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น ๆ ตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปีการศึกษา 2548–2549 มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาทางการศึกษาศาสตร์ในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต รวมทั้งสิ้น 222 คน และให้การอบรมในหลักสูตรระยะสั้นสำหรับครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาไปแล้วจำนวนมากกว่า 4,000 คน
ปรัชญาของคณะ
การศึกษา พัฒนาคุณธรรม นำปัญญา
ปณิธานของคณะ
คณะศึกษาศาสตร์มีความมุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้นำทางการศึกษา